สงครามในปีพ.ศ. 2583 - 2388 ของ อานัมสยามยุทธ

สยามยึดเมืองโพธิสัตว์และเวียดนามถอยไปจากกัมพูชา

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จัดทัพในการเข้ารุกกัมพูชาในปีพ.ศ. 2583 ดังนี้;

  • เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ ยกทัพจากเมืองพระตะบองเข้าตีเมืองโพธิสัตว์ ประกอบไปด้วย;
    • พระพิเรนทรเทพ (ขำ) นำทัพชาวกรุงเทพฯ 178 คน ชาวลาวอีสาน 2,612 คน รวม 2,788 คน
    • พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายของเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯ นำทัพชาวกรุงเทพฯ 205 คน และเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำทัพชาวลาวอีสาน 2,445 คน รวม 2,650 คน
  • พระยาราชนิกูล และพระยาอภัยสงคราม นำทัพชาวลาว 2,000 คน ชาวเขมรป่าดง 11,000 คน รวม 13,000 คน ยกทัพจากอุบลราชธานีไปช่วยพระยาเดโชขุนนางกัมพูชาเจ้าเมืองกำปงสวาย

ทัพของพระยาราชนิกูลเดินทางออกจากเมืองพระตะบองในเดือนสิบสอง (พฤศจิกายน พ.ศ. 2383) ร่วมกับทัพเขมรของพระยาเดโชเข้าโจมตีเมืองกำพงสวายซึ่งมีเหงียนกงเญิน (Nguyễn Công Nhân, 阮公閒) ป้องกันอยู่ พระยาราชนิกูลสามารถยึดเมืองกำปงสวายของฝ่ายญวนและตีทัพญวนที่ค่ายชีแครงแตกไป แต่หลังจากนั้นไม่นานองเตียนกุนเจืองมิญสางนำทัพมาตีทัพของพระยาราชนิกูลแตกไป ทัพของพระพิเรนทรเทพ (ขำ) พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และเจ้าพระยานครราชสีมาออกจากเมืองโพธิสัตว์ในเดือนสิบสองเช่นกันเข้าล้อมเมืองโพธิสัตว์ไว้ทั้งสี่ด้าน เมืองโพธิสัตว์มี "องเดดก" หมายถืงเด่ด๊ก (Đề đốc, 提督) หรือเจ้าเมืองป้องกันอยู่ส่งทหารญวนจากเมืองโพธิสัตว์ออกมาสู้รบ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเด่ด๊กแห่งเมืองโพธิสัตว์ในขณะนั้นชื่อว่าหวอดึ๊กจุง (Võ Đức Trung) เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้ขุนสนามเพลาะใช้ปืนระดงยิงใส่ป้อมเมืองโพธิสัตว์ฝ่ายญวนเสียชีวิตจำนวนมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯทราบข่าวว่าทัพของพระยาราชนิกูลที่กำปงสวายถูกองเตียนกุนตีแตกไปแล้วและองเตียนกุนกำลังจะยกทัพมาช่วยเมืองโพธิสัตว์ จึงปรึกษากับเจ้าพระยานครราชสีมาว่าถ้าไม่สามารถยึดเมืองโพธิสัตว์ได้ก่อนที่องเตียนกุนจะมาถึงควรเจรจาสงบศึก เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเจรจาสงบศึกกับองเดดกหวอดึ๊กจุง องเดดกยินยอมถอนกำลังออกจากเมืองโพธิสัตว์สร้างความไม่พอใจให้แก่องเตียนกุน เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงยอมให้ขุนนางญวนเดินทางออกจากเมืองโพธิสัตว์ไปแต่โดยดี เมื่อยึดเมืองโพธิสัตว์ได้แล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเห็นว่าเมืองโพธิสัตว์มีเสบียงน้อยจึงให้ขุนนางเขมรรักษาเมืองและถอยทัพกลับไปอยู่ที่พระตะบอง

พระเจ้ามิญหมั่งมีพระราชโองการให้ "องตาเตียงกุน"ฝั่มวันเดี๋ยน (Phạm Văn Điển, 范文典) ยกทัพมาช่วยองเตียนกุน ในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2384 โปรดฯให้นักองค์ด้วงไปที่เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯป่าวประกาศให้ชาวกัมพูชามาสวามิภักดิ์ต่อนักองค์ด้วง นักองค์แบนพระเชษฐภคินีของนักองค์มีมีหนังสือลับถึงนักนางเทพพระมารดาที่เมืองพระตะบองว่าจะหลบหนีมาอยู่ฝ่ายสยาม ฝ่ายเวียดนามจับได้เจืองมิญสางจึงนำนักองค์แบนไปทารุณกรรมที่เมืองล่องโห้และสำเร็จโทษนักองค์แบนด้วยการถ่วงน้ำในแม่น้ำโขง เจ้าฟ้าทะละหะ (หลง) และสมเด็จเจ้าพระยา (หู) ขุนนางเขมรฝ่ายญวน พยายามทูลขอโทษพระจักรพรรดิมิญหมั่งที่เมืองเว้แต่กลับถูกจับกุมและเนรเทศไปเมืองฮานอย พระจักรพรรดิมิญหมั่งสวรรคตในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2384 ทัพของเจืองมิญสางและฝั่มวันเดี๋ยนที่เมืองพนมเปญมี 20,000 คน ฝั่มวันเดี๋ยนยกทัพ 3000 คน เข้าตีเมืองโพธิสัตว์แต่ไม่สำเร็จ เจ้าพระยาบดินทรฯจึงให้นักองค์ด้วยไปรักษาเมืองโพธิสัตว์ในเดือนมีนาคม ในเดือนเมษายนเจืองมิญสางนำนักองค์อิ่ม นักองค์มี รวมทั้งเชื้อพระวงศ์และขุนนางเขมรซึ่งถูกจองจำอยู่ที่เว้มายังเมืองพนมเปญเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชาอีกครั้ง เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงส่งนักองค์ด้วงไปอยู่ที่เมืองอุดงมีชัยเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวเขมรเช่นกันโดยมีพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) เป็นผู้นำทัพถึงเมืองอุดงในเดือนพฤษภาคม

ในเวลานั้นอาณาจักรกัมพูชาแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายนักองค์ด้วงที่เมืองอุดงและฝ่ายนักองค์อิ่มและนักองค์มีที่พนมเปญ พระจักรพรรดิเวียดนามพระองค์ใหม่คือพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงมีนโยบายที่แตกต่างจากพระจักรพรรดิมิญหมั่ง ขุนนางชื่อว่าตะกวังกึ (Tạ Quang Cự, 謝光巨) ได้กราบทูลพระจักรพรรดิเถี่ยวจิว่าสงครามในกัมพูชานั้นเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองทรัพยากรทำให้ราษฎรในเวียดนามภาคใต้ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากถูกเกณฑ์ไปรบ จึงมีพระราชโองการให้ถอนกำลังทหารของเวียดนามออกจากกัมพูชาและเชียงขวางทั้งหมด ประกอบกับการที่เมืองพนมเปญเกิดโรคระบาดและภาวะขาดอาหาร ทำให้เจืองมิญสางจำต้องถอนกำลังออกจากกัมพูชารวมทั้งนำนักองค์อิ่มและเชื้อพระวงศ์เขมรลงใต้ไปอยู่ที่เมืองโจดกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2384 ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าเจืองมิญสางเสียชีวิตอย่างกระทันกันที่เมืองโจดก ในขณะที่พงศาวดารไทยและเขมรกล่าวว่าองเตียนกุนเจืองมิญสางมีความเสียใจที่สูญเสียกัมพูชาจึงกินยาพิษฆ่าตัวตาย

สยามตีเมืองบันทายมาศและคลองหวิญเต๊

เมื่อฝ่ายสยามเข้าครองกัมพูชาแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯดำริว่าคลองหวิญเต๊ซึ่งเป็นคลองขุดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2362 ระหว่างเมืองโจดกและเมืองบันทายมาศเป็นคลองขนาดใหญ่ทำให้เวียดนามสามารถนำทัพเรือออกสู่อ่าวไทยได้ จึงมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชานำกำลังไปถมทำลายคลองหวิญเต๊ เจ้าพระยาบดินทรเดชาตอบว่าคลองหวิญเต๊มีกองกำลังญวนคุมอยู่เนื่องจากเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯล้มป่วยจึงทูลขอให้แต่งทัพเข้าตีคลองหวิญเต๊และตีเมืองบันทายมาศและทูลขอเสบียงอาหารเพิ่มเติมมาส่งที่เมืองกำปอต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงโปรดฯให้แต่งทัพไปโจมตีคลองหวิญเต๊และเมืองบันทายมาศดังนี้;

  • สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ประทับเรือพุทธอำนาจ และจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) เป็นทัพหน้าลงเรือเทพโกสินทร์ นายกองอื่นๆลงเรือราชฤทธิวิทยาคม เรืออุดมเดช และเรือปักหลั่นมัจฉานุ นำกำลัง 2,000 คนไปรวมกับกำลังจากหัวเมืองตะวันออกได้แก่ระยอง จันทบุรี ตราด อีก 3,000 คน รวมเป็น 5,000 คน นำเสบียงไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯที่เมืองกำปอตและเข้าตีเมืองบันทายมาศ
  • เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) และพระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) นำทัพชาวลาวและเขมรป่าดงจำนวน 11,900 คน นำนักองค์ด้วงจากเมืองอุดงไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ และนำทัพเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊

เจ้าพระยายมราชและพระพรหมบริรักษ์นำนักองค์ด้วงออกจากเมืองอุดงในเดือนสาม (มกราคม) พ.ศ. 2385 ถึงเมืองเชิงกรรชุมส่งคนไปโจมตีคลองหวิญเต๊เป็นระยะ ทัพเรือของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ออกจากกรุงเทพฯในวันเดียวกัน กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ประทับที่จันทบุรีแล้วให้ทัพเรือของพระพิชัยรณฤทธิ์และพระราชวังสันยกไปก่อน ไปพบกับเรือฝ่ายญวนที่ช่องกระบือยิงต่อสู้กันเรือญวนถอยกลับไปยังบันทายมาศ พระยาอภัยพิพิธนำเสบียงลงเรือปักหลั่นมัจฉานุไปส่งให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่กำปอต จากนั้นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์จึงยกทัพเรือเสด็จไปประทับที่เกาะฟู้โกว๊กหรือเกาะกระทะคว่ำ ฝ่ายญวน"องตุมผู"ทราบว่าทัพเรือสยามกำลังยกมาตีเมืองบันทายมาศจึงรายงานไปยังพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ จึงมีพระราชโองการตามที่ในดั่ยนามถึกหลุกให้เลวันดึ๊กเจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่ ให้ฝั่มวันเดี๋ยนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียน (Tổng đốc An Hà) และเหงียนวันเจือง (Nguyễn Văn Chương, 阮文章 ต่อมาคือเหงียนจี่เฟือง Nguyễn Tri Phương, 阮知方) ป้องกันคลองหวิญเต๊ และให้เหงียนกงเญินป้องกันจังหวัดเหิ่วซาง

เขาโกนธมหรือเขาโกโต (Núi Cô Tô) ตั้งอยูทางทิศตะวันออกของเมืองบันทายมาศ อยู่ที่อำเภอจีโตน (Tri Tôn) จังหวัดอานซางในปัจจุบัน

กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ทรงให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) ยกทัพเข้าตีเมืองบันทายมาศ จมื่นไวยวรนาถให้พระยาอภัยพิพิธนำทัพหัวเมืองตะวันออก 600 คน และพระยาโสรัชชะเจ้าเมืองกำปอตชาวเขมรยกทัพเขมร 2,000 คนเข้ายึดเขาโกนธมหรือเขาโกโต (Núi Cô Tô) นอกจากนี้จมื่นไวยวรนาถยังให้พระยาราชวังสันยกทัพเรือไปโจมตีป้อมหน้าเมืองบันทายมาศ และพระยาพิชัยรนฤทธิ์ยกทัพเรือไปโจมตีหอลำผี ฝ่ายสยามระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองบันทายมาศทั้งทางบกและทะเล ฝ่ายองตุมผูผู้รักษาเมืองบันทายมาศจึงขอความช่วยเหลือไปยังเลวันดึ๊ก เลวันดึ๊กแม่ทัพใหญ่จึงส่งฝั่มวันเดี๋ยนนำทัพญวนมาเสริมกำลังที่เมืองบันทายมาศ ฝ่ายสยามระดมยิงใส่เมืองบันทายมาศเป็นเวลาติดต่อกันเจ็ดวันฝ่ายญวนยังสามารถยิงตอบโต้ได้ต่อเนื่อง จมื่นไวยวรนาถเห็นผิดสังเกตจึงสืบได้ความว่าฝ่ายญวนมี่กองกำลังมาเสริมแล้ว จมื่นไวยวรนาถจึงไปเข้าเฝ้าสมเด็จกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่เกาะฟู้โกว๊ก

กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ฯทรงมีพระวินิจฉัยว่า[1]ฝ่ายญวนนำกำลังเสริมมามากการยึดเมืองบันทายมาศทำได้ลำบาก อีกประการขณะนั้นกำลังจะเปลี่ยนฤดูมรสุมหากลมจากทิศตะวันตกพัดแรงขึ้นจะพัดกองเรือกำปั่นหลวงให้ได้รับความเสียหาย จึงมีพระบัญชาให้ถอนทัพสยามออกจากเมืองบันทายมาศทั้งหมดในเดือนห้า (เมษายน) พ.ศ. 2385 ฝ่ายญวนเหงียนวันเจืองนำทัพเข้าโจมตีค่ายของพระยาอภัยพิพพิธและพระยาโสรัชชะบนเขาโกนธมแตกพ่ายไป ทัพเรือที่หอลำผีนั้นก็ถูกลมมรสุมตะวันตกพัดจนตั้งอยู่ไม่ได้ต้องถอยออกมา

ทัพของเจ้าพระยายมราช พระพรหมบริรักษ์ และนักองค์ด้วงเข้าโจมตีคลองหวิญเต๊ ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าฝ่ายสยามสามารถยึดคลองหวิญเต๊และจังหวัดอานซางได้และยกทัพไปโจมตีจังหวักเหิ่วซาง เหงียนกงเญินผู้รักษาจังหวัดอานซางจึงขอความช่วยเหลือจากเมืองเว้ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงส่งโตนเทิ้ตหงิ (Tôn Thất Nghị, 尊室議) ยกทัพมาช่วยเหงียนกงเญินที่จังหวัดอานซาง เมื่อสยามล่าถอยไปจากบันทายมาศแล้วฝั่มวันเดี๋ยนจึงยกทัพมาช่วยจังหวัดอานซางเช่นกันจนสามารถขับไล่ฝ่ายสยามออกไปจากจังหวัดอานซางและคลองหวิญเต๊ได้ ในเดือนเมษายนพ.ศ. 2385 ฝั่นวันเดี๋ยนล้มป่วยเสียชีวิต ฝ่ายเจ้าพระยายมราชจึงยกทัพเข้าประชิดเมืองโจดก แต่ถูกทัพญวนนำโดย "องเตียนเลือก"เข้าตีแตกพ่ายเสียทหารสยามและกัมพูชาไปจำนวนมากในเดือนเมษายน เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ถูกปืนเข้าที่หน้าอกแต่ลูกปืนถูกกระดุมเสื้อ[1] เจ้าพระยายมราชและนักองค์ด้วงจึงล่าถอยไปอยู่ที่พนมเปญ เลวันดึ๊กเสียชีวิตในปีพ.ศ. 2385 เช่นกัน จักรพรรดิเถี่ยวจิทรงแต่งตั้งเหงียนกงเญินขึ้นเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนแทน

การรบทางเรือครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเรือไทยมีสมรรถนะที่ด้อยกว่า เรือญวน (ดูรายละเอียดใน พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์, 2508) ทั้งในเรื่องของขนาดและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อเรือรบใหม่เป็นเรือป้อมอย่างญวน สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้หลายกระบอก ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กอง อำนวยการต่อเรือป้อมแบบญวนไว้ใช้ในราชการ 80 ลำ

ช่วงระหว่างสงครามพ.ศ. 2386 - 2388

หลังจากสงครามปีพ.ศ. 2385 อาณาจักรกัมพูชามีนักองค์ด้วงปกครองอยู่ที่เมืองอุดงภายใต้ความคุ้มครองของพระพรหมบริรักษ์โดยมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) กำกับอยู่ที่เมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯให้รื้อป้อมปราการของญวนที่นอกเมืองพนมเปญลงและสร้างป้อมใหม่ทางทิศใต้ ให้ชาวลาวจากนครราชสีมาจำนวน 5,000 คนและทหารเขมรอีก 3,000 คนรักษาเมืองพนมเปญ และให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค) ไปคุมการขุดคลองพระยาลือและการสร้างป้อมขึ้นที่เมืองอุดง

ฝ่ายเวียดนามนำโดย"จงตก" (Tổng đốc, 總督) เหงียนวันเจืองซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯจังหวัดอานซางและห่าเตียนและตั้งมั่นอยู่ที่เมืองโจดก ได้ส่งนักองค์อิ่มมาอยู่ที่เมืองโจดกและส่งพระสงฆ์ออกไปเกลี้ยกล่อมชาวกัมพูชา แต่ทว่านักองค์อิ่มถึงแก่พิราลัยในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2386 โดยที่นักองค์อิ่มไม่มีโอรสมีแต่ธิดาคือนักองค์ภิม ทำให้ฝ่ายญวนขาดเจ้ากัมพูชาที่เป็นชายอีกครั้ง เจ้าหญิงกัมพูชาที่อยู่กับญวนได้แก่นักองค์มี นักองค์สงวน นักองค์โพธิ์ และนักองค์ภิม รวมทั้งนักนางรศมารดาของนักองค์ด้วง

อาณาจักรกัมพูชาอยู่ภายใต้สงครามยืดเยื้อนานหลายปีทำให้ชาวกัมพูชาขาดการเกษตรกรรมไม่มีผลผลิตมานานหลายปี เกิดภาวะแล้งรวมทั้งเกิด "ไข้ป่วง" โรคระบาดขึ้นในเวียดนามภาคใต้ในพ.ศ. 2385-86 ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขาดแคลนอาหารขึ้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงจำต้องแบ่งเสบียงจากเมืองจันทบุรีและตราด สงครามระหว่างสยามและเวียดนามจึงหยุดยั้งลงชั่วคราวเป็นเวลาสามปี เมื่อสถานการณ์สงบเรียบร้อยดีแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 โดยให้พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) บุตรชายรักษานักองค์ด้วงและเมืองอุดง

เวียดนามยึดพนมเปญและตีเมืองอุดง

หลังจากที่กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของนักองค์ด้วงและสยามได้สามปี เริ่มมีขุนนางกัมพูชาบางกลุ่มหันไปสนับสนุนฝ่ายเวียดนามอย่างเป็นความลับ พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงเห็นเป็นโอกาสจึงมีพระราชโองการให้ตั้งหวอวันสาย (Võ Văn Giải, 武文解) เจ้าเมืองไซ่ง่อนเป็นแม่ทัพใหญ่และจัดทัพเข้ารุกรานกัมพูชาจากสามทางได้แก่;

  • "องเดดก" เหงียนวันฮว่าง (Nguyễn Văn Hoàng) ซึ่งเป็นเด่ด๊กแห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 170 ลำ 6,000 คน[1] จากเมืองเตินเจิว (Tân Châu, 新洲) ซึ่งอยู่ติดกับเมืองโจดกขึ้นไปตามแม่น้ำบาสักเข้าตีเมืองบาพนม (อำเภอบาภน็อม จังหวัดไพรแวง) ก่อนเข้าโจมตีเมืองพนมเปญ
  • "องตนผู้" โตว๋นเอวิ๋น (Doãn Uẩn, 尹蘊) ซึ่งเป็นต่วนผู (Tuần phủ, 巡撫) แห่งจังหวัดอานซาง นำทัพเรือ 120 ลำ 3,000 คน[1] จากเมืองโทงบิ่ญ (Thông Bình, 通平 จังหวัดด่งท้าปติดกับกัมพูชา) ขึ้นไปตามแม่น้ำพระตระแบกมาตีเมืองกำพงตระแบก (อำเภอก็อมพงตระแบก, កំពង់ត្របែក จังหวัดไพรแวง) แล้วไปสมทบกับทัพของเหงี่ยนหวั่งฮว่างที่เมืองบาพนมก่อนเข้าตีเมืองพนมเปญ
  • เหงียนกงเญินนำทัพบกจากจังหวัดเต็ยนิญ (Tây Ninh, 西寧) ตามหลังสองทัพก่อนหน้านี้

เมื่อเดือนหก (พฤษภาคม) พ.ศ. 2388 นักองค์ด้วงค้นพบว่าพระยาจักรี (มี) ขุนนางกัมพูชามีหนังสือโต้ตอบกับฝ่ายเวียดนามให้เวียดนามยกทัพขึ้นมาแล้วตั้งเจ้าสตรีขึ้นครองกัมพูชาแทน จึงให้ประหารชีวิตพระยาจักรี (มี) รวมทั้งพรรคพวกรวมสิบเอ็ดคน ฝ่ายญวนเมื่อทราบว่าฝ่ายสยามทราบข่าวสงครามแล้วจึงเริ่มยกทัพเรือเข้าตีกัมพูชาในเดือนกรกฎาคม โตว๋นเอวิ๋นนำทัพเรือเข้ายึดเมืองกำพงตระแบกได้มาตั้งที่บึงกษัตริย์สระ (ខ្សាច់ស) เมืองบาพนม กองกำลังฝ่ายกัมพูชาไม่อาจต้านทานได้ถอยร่นมา ฝ่ายกรุงเทพฯมีพระราชโองการให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) รีบรุดนำทัพออกไปเมืองอุดงมีชัยในเดือนกรกฎาคมโดยให้พระยาราชสุภาวดี (โต) อยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีคอยส่งเสบียง หวอวันสายและเหงียนวันเจืองนำทัพเรือขึ้นไปหนุนที่เมืองบาพนม พระจักรพรรดิเถี่ยวจิดำริจะฟื้นฟูมณฑลเจิ๊นเต็ยขึ้นอีกครั้งจึงแต่งตั้งให้หวอวันสายเป็น "องตาเตียนกุน" ตำแหน่งเดียวกับเจืองมิญสาง หวอวันสายเสนอให้ตั้งนักองค์ภิมธิดาของนักองค์อิ่มขึ้นครองเขมร แต่พระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงไม่เห็นชอบด้วย

เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นยกทัพเรือจำนวน 2,000 คน ขึ้นไปตีเมืองพนมเปญ เหงียนวันเจืองสามารถเข้ายึดเมืองพนมเปญได้ในเดือนกันยายนพ.ศ. 2388 พระพรหมบริรักษ์ (แก้ว) และกองกำลังสยามและเขมรต่างแตกถอนร่นจากพนมเปญไปยังเมืองอุดง เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นรีบยกทัพขึ้นมาล้อมเมืองอุดง เหงียนวันเจืองจึงต้องแบ่งทัพ เหงียนวันเจืองตั้งอยู่ที่คลองพระยาลือ (ពញ្ញាឮ) ทางใต้ของเมืองอุดง ในขณะที่โตว๋นเอวิ๋นตั้งอยู่ที่กำพงหลวง (កំពង់លួង) ทางเหนือเพื่อปิดกั้นไม่ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯถอยกลับไปทางพระตะบองได้

ในการล้อมเมืองอุดงนั้นเอกสารฝ่ายไทยและฝ่ายเวียดนามให้รายละเอียดต่างกัน พงศาวดารไทยกล่าวว่าเมื่อฝ่ายเวียดนามเข้าโจมตีเมืองอุดงเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯสามารถนำทัพขับทหารเวียดนามออกไปได้และแบ่งกำลังออกไปตีค่ายกำพงหลวงและพระยาลือ ในขณะที่ดั่ยนามถึกหลุกกล่าวว่าทั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯและเหงียนวันเจืองต่างเห็นว่าการล้อมเมืองอุดงยืดเยื้อไม่สามารถเอาชนะซึ่งกันและกันได้นำไปสู่การเจรจาสงบศึก การเจรจาระหว่างสยามและเวียดนามเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2388 "องญวน"โตว๋นเอวิ๋นที่ค่ายพระยาลือส่งหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ว่าให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปถวายพระจักรพรรดิเถี่ยวจิยินยอมให้กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของเวียดนาม โดยฝ่ายเวียดนามนามจะส่งเจ้าสตรีและเชื้อพระวงศ์กัมพูชาคืนให้แก่นักองค์ด้วงและล่าถอยไปอยู่ที่เมืองพนมเปญ หลังจากการล้อเมืองอุดงเป็นเวลาห้าเดือน เหงียนวันเจืองและโตว๋นเอวิ๋นจึงถอนกำลังญวนทั้งหมดจากเมืองอุดงลงไปตั่งมั่นที่พนมเปญในเดือนกุมภาพันธ์พ.ศ. 2389

การเจรจา

สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี หรือนักองค์ด้วง

ฝ่ายญวนต้องการให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นไปสวามิภักดิ์ต่อพระจักรพรรดิเถี่ยวจิ แต่นักองค์ด้วงและเจ้าพระยาบดินทรเดชาฯยังคงไม่ตอบ ในเดือนตุลาคมพ.ศ. 2389 ฝ่ายญวนส่งนักนางรศให้แก่นักองค์ด้วงและเร่งให้นักองค์ด้วงส่งสาส์นและส่งชาวญวนซึ่งฝ่ายสยามได้กวาดต้องไปกลับคืนให้แก่ญวน นักองค์ด้วงตอบว่าขอเวลาสามเดือน หลังจากผ่านไปสามเดือนฝ่ายญวนเข้ามาทวงสัญญา เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระบรมราชานุญาติให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯกระทำการเจรจากับฝ่ายญวนตามสมตวร เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงให้นักองค์ด้วงแต่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิเถี่ยวจิที่เมืองเว้ในเดือนมกราคมพ.ศ. 2390 ในเดือนพฤษภาคมพระจักรพรรดิเถี่ยวจิทรงให้คณะทูตญวนนำตราตั้งและเครื่องยศแบบญวนมาแต่งตั้งนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "กาวเมียนโกว๊กเวือง" (Cao Miên Quốc vương , 高棉國王) หรือ "กษัตริย์แห่งเขมร" ในฐานะเจ้าประเทศราชขึ้นแก่เวียดนาม รวมทั้งส่งเชื้อพระวงศ์ที่เหลือทั้งหมดให้แก่นักองค์ด้วงและฝ่ายญวนก็ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญไปในเดือนมกราคมพ.ศ. 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้พระยาเพชรพิชัย (เสือ) นำเครื่องอิสสริยยศและสุพรรณบัฏไปยังเมืองอุดงและให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯเป็นผู้แทนพระองค์ราชาภิเษกนักองค์ด้วงขึ้นเป็น "พระหริรักษ์รามาธิบดีศรีสุริโยพันธุ์ธรรมิกวโรดม..." หรือ "องค์พระหริรักษ์เจ้ากัมพูชา" ในฐานะเจ้าประเทศราชของสยาม อาณาจักรกัมพูชาจึงเป็นเมืองขึ้นของทั้งสยามและเวียดนามนับแต่นั้นมา เมื่อกิจการในกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชาฯจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯในเมษายนพ.ศ. 2391